วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิธีการเลือกซื้อปลาทอง Gold fish


ในการเลือกซื้อปลาทองนั้น ก่อนที่จะไปซื้อปลาทองมาเลี้ยง เราควรที่จะเตรียมภาชนะ หรือสถานที่สำหรับเลี้ยงปลาไว้ให้พร้อมก่อน อย่างเช่นจัดเตรียมตู้ปลาที่มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนปลาทองที่เราจะเลี้ยง รวมไปถึงระบบน้ำและระบบกรองน้ำที่จะใส่ตู้ปลาให้พร้อม จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนของการไปเลือกซื้อปลามาเลี้ยงไว้กันแล้ว



การซื้อปลาทองนั้น จริง ๆ แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกซื้อปลาทองที่มีราคาแพง หรือลักษณะดีนักมาเลี้ยงก็ได้ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ ควรซื้อปลาทองขนาดเล็กมา ทดลองเลี้ยงดูก่อน ปลาทองที่มีลักษณะดี ไม่ได้หมายถึงปลาทองที่มาจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ปลาทองที่เพาะพันธุ์ในประเทศของเราที่มีลักษณะดี และคุณภาพดี ๆ ก็มีเช่นกัน ดังนั้นการเลือกซื้อนั้น ขอให้ดูลักษณะที่ดีไม่มีปัญหาและเน้นที่ความสมบูรณ์แข็งแรงของปลาเป็นหลัก

หลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อปลาทองที่ทำได้ง่ายที่สุดเป็นลำดับแรก ก็คืออย่าซื้อปลาที่ขายลดราคาเป็นพิเศษ เพราะว่าปลาทองเหล่านั้นอาจมีปัญหาก็ได้ เพราะปลาดี ๆนั้น ปรกติจะไม่ควรเอามาขายลดราคา
การเลือกปลา ควรให้เวลาในการเลือกและสังเกตุสักหน่อย ควรเลือกปลาที่ว่ายน้ำตลอดเวลา เพราะนั่นแสดงถึงความสมบรูณ์ของปลา ลักษณะการว่ายน้ำต้องเป็นปกติ ไม่หัวทิ่ม หรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของปลาเป็นโรคเสียการทรงตัว



จากนั้นให้เลือกปลาตัวใหญ่ที่สุดในกลุ่มไว้ก่อน เพราะลูกปลาในครอกหนึ่งๆ เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ลูกปลาทองที่แข็งแรงจะกินอาหารเก่งกว่า และโตเร็วกว่าปลาตัวที่อ่อนแอกว่า อย่าซื้อปลาที่มีลักษณะผอมแห้ง ซึ่งปลาตัวนั้นอาจจะป่วยเป็นโรคก็ได้

เลือกซื้อปลาที่มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ และอวัยวะด้านซ้ายและขวาของตัวปลาจะต้องมีรูปทรงและขนาดเดียวกัน ตัวปลาต้องมีสีเข้ม เกล็ดเป็นมัน เป็นเครื่องแสดงออกถึงความแข็งแรงสมบูรณ์

อย่าซื้อปลาทองที่ครีบและหางลู่ผิดปกติ แม้จะไม่ใช้ลักษณะพิการ แต่เป็นลักษณะด้อยแสดงถึงความไม่สมบรูณ์แข็งแรง ปลาที่สมบรูณ์แข็งแรงครีบและหางจะเบ่งบานตลอดเวลา

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาหารปลาทอง

อาหารปลาทอง
อาหารของปลาทองอาจจะจำแนกได้หลายหลายชนิด โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ อาหารธรรมชาติ และ อาหารสำเร็จรูป ซึ่งแต่ละประเภทก็มีข้อดีที่แตกต่างกันออกไป

อาหารธรรมชาติ แม้ว่าปลาทองนั้นจะเป็นปลาที่กินได้ทั้งพืช และสัตว์เป็นอาหาร แต่ในธรรมชาติแล้วปลาทอง ชอบกินอาหารพวกลูกน้ำ ไรแดง หนอนแดง และ ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น โดยอาหารมีชีวิตเหล่านี้จะมีคุณค่าทางอาหารที่สูงมากทำให้ปลาทองเติบโตได้เร็วมีความสมบูรณ์ทางเพศสูง ดังนั้นอาหารประเภทนี้จึงเหมาะสมต่อการใช้เลี้ยงพ่อและแม่พันธุ์ปลาทอง โดยควรที่จะให้ 2 ถึง 3 ครั้ง ต่อวัน อาหารธรรมชาติจะให้ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้วก็ได้ แต่หากเป็นอาหารที่ตายแล้ว (ประเภทอบแห้ง) จะต้องให้ปริมาณที่พอเหมาะ ถ้ามีอาหารเหลือต้องรีบดูดทิ้งทันที เนื่องจากอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่ายและเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคขึ้นได้
ข้อดีของอาหารมีชีวิต

ปกติแล้วสัตว์น้ำจะมีเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อย ซึ่งสัตว์น้ำสามารถย่อยและกินได้ตลอดเวลา
อาหารมีชีวิตเหล่านี้ จะมีองค์ประกอบของกรดอะมิโนจำเป็นที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยการเจริญเติบโตของปลาทอง
มีสารเร่งสีต่างๆ ตามธรรมชาติ และช่วยยังป้องกันและเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ปลาทอง ซึ่งไม่สามารถสังเคราะห์เองตามธรรมชาติ
มีราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับอาหารเม็ดสำเร็จรูปทั่วๆไป ช่วยให้ประหยัด

อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารปลาชนิดเม็ดขนาดเล็กเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงปลาทอง อย่างไรก็ดีเราควรที่จะเลือกอาหารสำเร็จรูปที่มี โปรตีนสูง โดยจะทำให้ปลาทองเจริญเติบโตดี และมีสีสันที่สวยงามโดยทั่วไปส่วนประกอบของอาหารสำเร็จรูปควรประกอบด้วย โปรตีน 40% คาร์โบไฮเดรต 44% ไขมัน 10% วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ 6% โดยประมาณ

สำหรับอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนที่ต่ำ จะทำให้ปลาทองโตช้าหรือชะงักการเจริญเติบโต และมีความสมบูรณ์ทางเพศน้อย อย่างไรก็ดีถ้าหากอาหารมีปริมาณโปรตีนมากเกินไป ปลาทองก็จะขับถ่ายของเสีย ออกมามากและทำให้น้ำมีปริมาณแอมโมเนียที่สูงและเป็นพิษต่อปลาทอง
การให้อาหาร ควรให้ ร้อยละ 3 -5 ของน้ำหนักปลาในแต่ละวัน เช่น ปลาทั้งหมด น้ำหนัก 500 กรัม จะให้
อาหารเม็ดวันละ 15 - 25 กรัม โดยแบ่งให้เช้าเย็นหรือจะใช้อาหารผสมแทน ก็ได้ โดยให้มีปริมาณโปรตีนที่ไม่ควรต่ำกว่า 40%

วิธีการให้อาหารสำเร็จรูปมีข้อควรพิจารณาในการให้อาหาร ดังนี้
ปริมาณอาหารที่ให้ ไม่มากเกินไป ปลาควรกินหมดภายใน 15 นาที ถ้าไม่หมดควรตักออก
ความถี่ หลักการให้อาหารควรจะให้ปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งทั้งนี้ควรให้วันละ 2 -3 ครั้งถ้า
อย่างไรก็ตาม เลี้ยงปลาทองด้วยอาหารสำเร็จรูปนั้น ก็ควรที่จะมีการเสริมอาหารมีชีวิตร่วมด้วย

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

โรคจุดขาวใน ปลาทอง

โรคจุดขาว ในปลาทอง

อาการของโรคจุดขาวคือ ที่ตัวปลาจะมีจุดขาว ๆ ขนาดเล็กประมาณ0.5-1.0 มิลิเมตร หรืออาจจะเกิดขึ้น ที่ครีบและเหงือก แล้วจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถเห็นได้ชัด ลักษณะการว่ายน้ำของปลา จะแกว่งไปมาและพยายามที่จะ ถูลำตัวกับพื้นก้อนหินหรือต้นไม้น้ำ เพื่อให้จุดขาวเหล่านั้นหลุดออกไป เมื่อมีอาการของโรคจุดขาว ปลาทองจะไม่ค่อยทานอาหารปลาบางชนิด และจะลอยคอขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำหรือจะอยู่ตามนิ่ง ตามมุมตู้
สำหรับปลาทองที่มีสีอ่อนจะสังเกตุยาก

สาเหตุ ของโรคจุดขาวในปลาทองนั้น เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำชนิดหนึ่งชื่อ lchthyophthirius sp.
มีขนาดเล็กเกาะอยู่เชื้อนี้ เติบโตอยู่บนผิวของปลาทองที่สุขภาพอ่อนแอ (อาการอ่อนแอนี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำมากๆ)

วิธีป้องกัน และ รักษาโรคจุดขาว คือ พยายามรักษาระดับอุณหภูมิของน้ำให้สม่ำเสมอ อย่าให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน สำหรับปลาที่เป็นโรค เราควรที่แยกปลาทองออกมากักโรค เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายไปยังปลาตัวอื่น โรคนี้สามารถรักษาด้วยการใช้ตัวยาเคมีบางชนิดที่ใช้ฆ่าเชื่อเชื้อได้ สำหรับตัวยานั้นสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสัตว์น้ำทั่วๆไป